กลายเป็นประเด็นสุดร้อนแรงในตลาดคริปโตเคอร์เรนซีของเมืองไทย เมื่อกรมสรรพากรออกมาประกาศชัดเจนว่าจะเริ่มเอาจริงกับการเก็บภาษีกำไรจากการลงทุน (Capital Gain) ในตลาดคริปโต ดราม่าภาษีคริปโตที่สร้างความวิตกกังวลต่อนักลงทุนอย่างมาก ก่อให้เกิดข้อถกเถียงของนักลงทุนเหรียญคริปโตในโซเชียลมีเดียหลายแพลตฟอร์มต่อมาตรการ “ภาษีคริปโต15%” ที่เกิดขึ้น ภาษีคริปโต ขายคริปโตฯ ได้กำไร ต้องเสียภาษีจริงหรือไม่ แล้ว “วิธีคำนวณภาษีคริปโตฯ” ทำอย่างไร

คริปโตเคอร์เรนซี คืออะไร

คริปโตเคอร์เรนซี” คือสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่ง เนื่องจากเกิดขึ้นมาเพื่อใช้แลกเปลี่ยนเสมือนเป็นเงิน แต่ไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้เหมือนธนบัตรหรือเหรียญ  ดังนั้น จึงจัดว่าเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี เป็นทรัพย์สินดิจิทัล ที่สามารถซื้อขาย แลกเปลี่ยน และสะสมได้

คริปโตฯ ได้รับการออกแบบมาเพื่อเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน โดยใช้วิทยาการเข้ารหัส หรือรหัสลับ (Cryptography) เพื่อการป้องกันและยืนยันธุรกรรม และยังใช้เพื่อเข้ารหัสควบคุมการผลิตคริปโตฯ บางประเภทด้วย ซึ่งโดยพื้นฐานคริปโตฯ จะมีข้อจำกัดการเข้าถึงฐานข้อมูล ทำให้การเปลี่ยนแปลงข้อมูลเป็นไปได้ยาก ถ้าหากยังไม่ได้กรอกเงื่อนไขเฉพาะ ทำให้สามารถซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน และสะสมคริปโตฯ ได้อย่างมั่นใจ ปลอดภัย และปลอมแปลงได้ยาก

และนอกจากเหรียญคริปโตฯ จะเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ดิจิทัลแล้ว ยังมีเหรียญอื่นๆ ที่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลอีกมากมาย เช่น “โทเคนดิจิทัล (Digital Token)” ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันเช่นกัน

ภาษีคริปโต คืออะไร

เดิมที พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 คือกฎหมายที่ออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 ซึ่งเป็นช่วงที่คริปโตฯ เข้ามา คนไทยต่างเริ่มเข้าไปถือเหรียญ ลงทุน และเทรดกันมากขึ้น ส่งผลให้ต้องมีการกำกับดูแลจาก regulator เจ้าหน้าที่รัฐ หรือรัฐ ในกรณีที่จะทำ ICO หรือกระดานเทรด (ส่วนนี้จะต้องทำเรื่องขออนุญาตและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.)

ส่วนการจัดเก็บภาษีคริปโตฯ นั้นเริ่มต้นเมื่อมีประกาศออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นกฎหมายของกรมสรรพากรว่าด้วยการแก้ไขเรื่องภาษี โดยเพิ่มรายได้อีกสองประเภทเข้าไป ได้แก่ รายได้จากโทเคนดิจิทัลและคริปโตฯ และกำไรจากการขายโทเคนดิจิทัลและคริปโตฯ เฉพาะในส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินลงทุน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร 

และยังกำหนดให้ ‘ผู้จ่ายเงินได้’ พึงประเมินดังกล่าวมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ของเงินได้ตามมาตรา 50 (2) (ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นการเก็บภาษี Capital Gain จากการลงทุนในคริปโต

กรณีไหนบ้างที่ต้อง เสียภาษีคริปโตฯ

หากอ้างอิงตามประมวลรัษฎากรฉบับที่ 19 นั้น ได้มีการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมในมาตรา 40 และมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร โดยกำหนดประเภทเงินได้เพิ่มเติมขึ้นมา สรุปได้ว่าเงินได้เพิ่มเติมที่ต้องเสียภาษีคริปโตฯ ก็คือ

1. กรณีที่ได้รับส่วนแบ่งกำไรจากการถือครองโทเคนดิจิทัล

2. กรณีที่มีกำไรจากการขายโทเคนดิจิทัลและคริปโตฯ โดยตรง โดยต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% จากกำไรก่อน

วิธีการคำนวณภาษีคริปโตฯ และ เสีย “ภาษีคริปโตฯ” 

กำไรที่ได้รับจากการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล หลังจากถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว 15% ถือเป็นการชำระภาษีล่วงหน้าเท่านั้น นักลงทุนจะต้องนำมาคำนวณรวมกับเงินได้อื่นๆ เพื่อยื่นภาษีประจำปีโดยมี

วิธีการคำนวณภาษีคริปโตฯ ดังนี้

ตัวอย่างเช่น

นักลงทุนขาย Bitcoin ได้กำไร 150,000 บาท หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% = 22,500 บาท จะเหลือกำไรที่ได้รับ 127,000 บาท

จากนั้นเมื่อต้องยื่นภาษีปลายปี หากมีเงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว อยู่ที่ 600,000 ให้นำกำไรจากการขาย Bitcoin มารวมกับเงินได้สุทธิ จะได้เท่ากับ 600,000+150,000 = 750,000 บาท แล้วนำมาเทียบตารางอัตราภาษีก้าวหน้า 

ภาษีที่ต้องเสียคือ 72,500 (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา) – 22,500 (ภาษีหัก ณ ที่จ่าย) = 50,000 บาท

วิธีการยื่น ภาษีคริปโต

1. กรณีการยื่นนแบบภาษีออนไลน์ เมื่อเข้าไปที่เว็บไซต์อีไฟล์ลิ่ง ยื่นแบบและชำระภาษีออนไลน์  https://efiling.rd.go.th/rd-cms/

2. จากนั้นในหน้า กรอกเงินได้ จะมีหัวข้อ  รายได้จากการลงทุน  ระบุว่า ดอกเบี้ย เงินปันผลจากบริษัทต่างประเทศ ประโยชน์ใดๆ จากคริปโตเคอร์เรนซี หรือ โทเคนดิจิทัล เงินเพิ่มทุน เงินลดทุน (มาตรา 40(4))

3.เมื่อไปที่ ระบุข้อมูล จะมีให้กรอกเป็นรายการ ประเภทธุรกิจ (ประเภทของเงินได้) เงินได้ทั้งหมด ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เลขผู้จ่ายเงินได้

ข้อสำคัญคือ เมื่อผู้ขายถูกผู้ซื้อหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว ยังต้องนำกำไรจากการโอนคริปโตไปยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปีตามแบบ ภ.ง.ด.90 เพราะภาษีหัก ณ ที่จ่ายดังกล่าว ไม่ถือเป็น Final Withholding Tax แต่ถือว่าผู้ขายได้เสียภาษีไว้ล่วงหน้า จึงสามารถนำภาษีที่ถูกหักไว้แล้วไปเป็นเครดิตภาษี คือนำไปหักภาษีที่ต้องเสียในปีภาษีนั้นได้ตามมาตรา 60 แห่งประมวลรัษฎากร

ส่วนผู้ซื้อคริปโตซึ่งถือเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าว จึงมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ของกำไรดังกล่าวด้วย ไม่ว่าจะจ่ายมากน้อยเพียงใดตามมาตรา 50 (2) (ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร และแม้ผู้ขายไม่ได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยก็ต้องหักในอัตรา 15% เช่นกัน ตามมาตรา 50 (2) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร

นอกจากนี้ผู้ซื้อยังมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่ผู้ขาย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร กับต้องนำส่งภาษีที่ได้หักไว้ภายใน 7 วันนับตั้งแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้ต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในท้องที่ที่ผู้ซื้อมีสำนักงานตั้งอยู่ตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 3 อัฎฐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากรและประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย การนำส่งภาษีเงินได้ การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม และการยื่นรายการ ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2544 

ทั้งนี้ Exchange เป็นเพียงตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโตเท่านั้น ไม่ใช่ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินให้แก่ผู้ขาย Exchange จึงไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี และนำส่งภาษีแต่อย่างใด

ดังนั้นในปัจจุบัน นักลงทุนหรือนักเทรดต้องคำนวณภาพรวมการซื้อขายว่าได้กำไรหรือขาดทุนด้วยตัวเอง และหากได้กำไรก็ต้องยื่นและเสีย ภาษีคริปโต อย่างถูกต้องด้วยตัวเอง เพื่อป้องกันการถูกเรียกตรวจสอบย้อนหลัง