องค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกร้องให้นานาประเทศให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกในการสกัด โรคฝีดาษลิง ในประเทศที่ยังไม่มีการแพร่ระบาด โดยจะต้องมีการดำเนินการอย่างรวดเร็ว

“หากมีการใช้มาตรการที่เหมาะสมในขณะนี้ เราก็จะสามารถทำการควบคุมได้อย่างง่ายดาย”

นางซิลวี ไบรแอน ผู้อำนวยการฝ่ายความพร้อมในการรับมือโรคติดเชื้อรุนแรงของ WHO กล่าว

ทางด้านแพทย์หญิงมาเรีย แวน เคอร์คอฟ หัวหน้าด้านเทคนิคของ WHO เปิดเผยว่า ขณะนี้โรคฝีดาษลิงได้แพร่ระบาดไปแล้วมากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก โดยมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อราว 200 ราย และผู้มีอาการต้องสงสัยมากกว่า 100 รายในประเทศที่ปกติแล้วมักไม่มีการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดยังคงสามารถควบคุมได้

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ติดตามสถานการณ์โรคฝีดาษวานรทั่วโลกอย่างใกล้ชิด  เผยขณะนี้มีรายงานพบผู้ป่วย 344 ราย คัดกรองเข้มที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคฝีดาษวานรทั่วโลก ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2565 ที่มีการรายงานผู้ป่วยรายแรกในประเทศที่ไม่ใช่พื้นที่โรคประจำถิ่นของโรคนี้ โดยข้อมูล ณ วันที่ 26 พฤษภาคม 2565 มีการรายงานผู้ป่วยทั้งหมด 344 ราย (เพิ่มขึ้น 35 ราย) โดยประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สเปน 120 ราย อังกฤษ 77 ราย โปรตุเกส 49 ราย แคนาดา 26 ราย และเยอรมัน 13 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศชายที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ติดโรค อยู่ในกลุ่มอายุ 20-59 ปี 

โรคฝีดาษลิง คืออะไร

โรคฝีดาษลิง คืออะไร

โรคฝีดาษลิง หรือ โรคฝีดาษวานร เป็นโรคที่ใกล้เคียงกับอีสุกอีใส และไข้ทรพิษ แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า โดยผู้ป่วยจะมีไข้ ร่วมกับ ตุ่มผื่นตุ่มหนองทั่วตัว และ ต่อมน้ำเหลืองโต  โรคนี้ถูกพบครั้งแรกในลิง จึงตั้งชื่อว่า ฝีดาษลิง 

ปัจจุบันมีรายงานการเกิดเชื้อไวรัส ฝีดาษลิง 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์อัฟริกากลาง และสายพันธุ์ อัฟริกาตะวันตก ซึ่งสายพันธุ์อัฟริกากลางเป็นสายพันธุ์ที่มีการรายงานติดต่อจากคนสู่คน 

ผู้ที่รายงานว่ามีความเสี่ยงว่าติดเชื้อ คือ ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณป่าในอัฟริกากลางหรือตะวันตก หรือมี การล่าสัตว์เพื่อทำอาหาร หรือ ส่งออกเป็นสัตว์เลี้ยง  และมีรายงานพบการติดเชื้อจากคนสู่คน จากการสัมผัสสารคัดหลั่ง ผิวหนัง หรือ ละอองฝอยจากการหายใจ  อย่างไรก็ดีการติดเชื้อแบบแพร่กระจายเป็นวงกว้างจากคนสู่คนยังเกิดขึ้นน้อย

หลังการได้รับเชื้อ ไวรัสจะอยู่ในต่อมน้ำเหลือง และใช้เวลาฟักตัว 7-21 วัน จึงแสดงอาการ  โดยอาการจะเริ่มจากการมีไข้ และต่อมน้ำเหลืองโต 1-2 วัน จึงมีผื่น ผู้ป่วยจะสามารถแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่นได้ตั้งแต่มีไข้ โดยผื่นจะเริ่มจากมีแผลในปาก จากนั้นจะเริ่มมีผื่น ขึ้นที่ตัว หน้า ฝ่ามือ และฝ่าเท้า โดยผื่นจะมีขนาด 2-10 มิลลิเมตร ในช่วง 2-4 สัปดาห์ต่อมา ผื่นจะค่อยๆ เปลี่ยนจากผื่นนูนแดง เป็นตุ่มน้ำ แล้วจึงเป็นฝี โดยผื่นจะเปลี่ยนรูปแบบพร้อมๆกัน ทั่วทั้งตัว หลังตุ่มหนองแตกจนแห้งดี ผู้ป่วยก็จะอาการดีขึ้น และหมดระยะในการแพร่กระจายให้ผู้อื่น

ปัจจุบัน ไม่มีการรักษาจำเพาะสำหรับโรคฝีดาษลิง โดยอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้อยู่ที่ 1-10% ซึ่งจัดว่าต่ำกว่าโรคไข้ทรพิษมาก

อย่างไรก็ดีโรคฝีดาษลิง สามารถป้องกันได้โดยให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคอยู่ห้องแยก สวมหน้ากากอนามัย และใส่เสื้อคลุมปกปิดผื่นทั้งหมด จนผื่นหายดีและตกสะเก็ด