Web 3.0 คืออะไร ทำไมถึงเป็นอินเทอร์เน็ต The Next Era โครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ในการสร้างจักรวาล Metaverse ประเด็นที่กำลังถกเถียงกันอยู่ในเวลานี้ Web3 ที่ถูกกล่าวขานว่าเป็นอินเทอร์เน็ตยุคใหม่ที่ไร้ตัวกลางคอยควบคุม

Web 3.0 คืออะไร ?

ก่อนที่จะไปรู้จักกับ Web3 ต้องขอเท้าความไปถึง Web1.0 และ Web2.0 ก่อน โดยในปี 1989 Tim Berners-Lee เป็นผู้คิดค้น World Wide Web แม้ว่าในตอนนั้นจะไม่ได้เรียกว่า Web1.0 แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่นำพาผู้คนเข้าสู่โลกออนไลน์

ต่อมาในปี 1999 เริ่มมีการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค Web2.0 ซึ่งเปลี่ยนอินเทอร์เน็ตไปในหลายๆ ด้าน ผู้คนสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์บนโลกเสมือนจริงได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม โต้ตอบกันได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งยุคนี้ทำให้บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี (Big Tech) เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมาก อาทิ Google Facebook Amazon และ Apple ซึ่งข้อมูลและเนื้อหาจะถูกรวมศูนย์ไว้ใน Big Tech เหล่านี้

Gavin Wood ผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum ได้ก่อตั้งมูลนิธิ Web 3.0 Foundation ขึ้นในปี 2014 โดยมีแนวคิดว่าจะสร้างอินเทอร์เน็ตแห่งอนาคตที่เป็นของทุกคน โดยไม่มีกลุ่มใหญ่อย่าง Google หรือ Facebook

กล่าวคือ Web3.0 หรือ Web3 จะเพิ่มเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้าไปเพื่อต้องการทำให้อินเทอร์เน็ตเป็นประชาธิปไตย มีเสรีภาพ และการกระจายอำนาจ ไม่มีเซิร์ฟเวอร์ ชาวเน็ตทุกคนสามารถเป็นเจ้าของและควบคุมข้อมูลบนโลกออนไลน์ มีข้อมูลในมือเท่าๆ กันโดยไม่ต้องเสียเปรียบยักษ์ใหญ่

ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและสื่ออธิบายว่า Web3 เป็นวิธีแก้ปัญหาสำหรับความกังวลเกี่ยวกับการที่ข้อมูลและเนื้อหาบนโลกออนไลน์ถูกรวมศูนย์ไว้ในบริษัท Big Tech ไม่กี่แห่งนั่นเอง

คำอธิบายของ Web 3.0 ยังบอกเพิ่มเติมอีกว่า จะเป็นแหล่งกักเก็บ Data แบบ Decentralized หรือแบบกระจายออกจากศูนย์กลาง ซึ่งแตกต่างจาก Web 2.0 ที่ Data ส่วนใหญ่จะถูกจัดเก็บไว้แบบ Centralized หรือที่ศูนย์กลางมากกว่า

และการรันข้อมูลบน Protocol แบบ Decentralized จะเหมือนกับเทคโนโลยีอย่าง Blockchain และ Cryptocurrency ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ในอนาคตจะเห็นการทำงานร่วมกันของ 3 เทคโนโลยีนี้แบบไร้รอยต่อ บน Smart Contract ที่จะทำให้ทุกอย่างก้าวหน้าไปอีกขั้น ตั้งแต่ การทำ Microtransaction, Peer-to-Peer การกักเก็บข้อมูล การทำงานข้ามแอปพลิเคชัน ไปจนถึง การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจของหลาย ๆ องค์กร และในอนาคตจะเห็นว่า DeFi Protocol ที่เราเห็นกันตอนนี้นั้น จะเป็นแค่สิ่งเล็ก ๆ เมื่อยุคของ Web 3.0 มาถึง

Web 3.0 คืออะไร สำคัญอย่างไรกับ Blockchain

4 Key Features ของ Web 3.0

Ubiquity:

คำว่า Ubiquity หมายถึง การมีความสามารถในการอยู่ทุก ๆ ที ทุก ๆ แห่ง ในเวลาเดียวกัน หรือมีอีกหนึ่งคำที่ใช้เรียกกัน คือ Omnipresent หรือไปทั่วทุกหนทุกแห่งในเวลาเดียวกัน

คำนี้ใช้อธิบายได้ทั้ง Web 2.0 และ 3.0 โดยในยุคปัจจุบันที่เป็น Web 2.0 มีการใช้คำนี้แล้ว ตัวอย่างเช่น การใช้งาน Facebook ที่ผู้ใช้สามารถแชร์ภาพ วิดีโอ รวมถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้ทันทีจากทุกที่ เพียงแค่มีบัญชีบน Facebook และเมื่อเราก้าวเข้าสู่ยุคต่อไปที่เป็น Web 3.0 สิ่งต่าง ๆ ก็จะก้าวหน้ามากขึ้น เมื่ออินเทอร์เน็ตเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา การเชื่อมต่อสิ่งต่าง ๆ ก็จะเป็นไปได้เร็วขึ้น และต่อไปการเชื่อมต่ออุปกรณ์อย่าง IoT ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเชื่อมผ่านคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเหมือนกับ Web 2.0 อีกต่อไป

Semantic Web:

ตามที่กล่าวไปข้างต้น Semantic Web คือคำนิยามจากปากของผู้คิดคิด World Wide Web ที่ว่า Web 3.0 จะเป็นอินเทอร์เน็ตยุคใหม่ที่สามารถทำงานได้อย่างอัตโนมัติ คล้ายมนุษย์ ฉลาดมากขึ้น และรองรับเทคโนโลยีอัจฉริยะได้ 

ซึ่งคำว่า Semantic ในภาษาศาสตร์นั้น คือ การศึกษาด้านความหมาย ความสัมพันธ์ของคำ วลี หรือประโยคกับความหมาย ตัวอย่างเช่น คำว่า 1. I love Bitcoin และ 2. I <3 Bitcoin ซึ่งหากมองด้าน Syntax หรือไวยากรณ์จะพบว่า คำที่ 2 ไม่สามารถตีความหมายได้ แต่ในทาง Semantic ทั้งสองคำนั้นมีความหมายเดียวกัน 

ดังนั้น การประยุกต์ศาสตร์ด้าน Semantic ลงบนเว็บจะทำให้ความสามารถในการวิเคราะห์ การทำงาน การถอดโค้ด และอื่น ๆ จะมีความอัจฉริยะมากขึ้น และจะช่วยให้ผู้ใช้งานได้พบกับประสบการณ์ที่เหนือกว่าในการท่องโลกอินเทอร์เน็ต

Artificial Intelligence หรือ AI:

AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ที่หลายคนมองว่า เมื่อเข้าสู่ยุคของ Web 3.0 AI จะสามารถอ่าน และถอดความหมาย รวมถึงอารมณ์ ได้จากชุดข้อมูลที่ป้อนเข้าไป ซึ่งจะทำให้เครื่องมือต่าง ๆ มีความอัจฉริยะมากขึ้น

ถึงแม้ว่าในยุค Web 2.0 นี้ จะมีเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ แล้วก็ตาม แต่ในโลกอินเทอร์เน็ตแล้ว คน ยังเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักที่คอยดำเนินการต่าง ๆ อยู่ข้างหลัง ตัวอย่างเช่น การรีวิวบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่คนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ทั้งด้านดี และด้านลบ รวมทั้งสามารถใส่ข้อมูลเท็จลงไปได้ ทำให้ผู้ให้บริการต่าง ๆ ต้องคอยว่าจ้างคนหลายกลุ่มให้เข้ามารีวิวผลิตภัณฑ์ไปในทางที่ดี สิ่งนี้เองทำให้อินเทอร์เน็ตถูกพัฒนาไป โดยนำเอา AI เข้ามาคัดแยกข้อมูลรีวิวที่เป็นด้านลบ หรือข้อมูลเท็จออก และเพิ่มเฉพาะข้อมูลที่เชื่อถือได้ลงไป

อย่างเช่น ระบบ AI ของ Google ที่ไปลบรีวิวด้านลบกว่า 100,000 รีวิวของแอปฯ Robinhood ออกจาก Play Store ซึ่งนับเป็นอีกก้าวของ AI ที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในยุคของ Web 3.0 และในอนาคตเราอาจจะได้เห็นข้อมูลต่าง ๆ ที่ถูก AI คัดกรอง และช่วยลดความลำเอียง (Bias) ของการให้ข้อมูลที่เกิดจากคนได้

Spatial Web และ 3D Graphics:

มี Futurists หลายคนมองว่า Web 3.0 เป็น Spatial Web เนื่องจาก มันจะเข้ามาปิดช่องว่างระหว่างโลกดิจิทัล กับโลกจริงลง โดยการปฏิวัติเทคโนโลยีด้านกราฟิก ให้สามารถออกแบบ และสร้างโลก 3D เสมือนจริงขึ้นมาได้ และโลก 3D นี้จะไม่ได้เข้ามาเฉพาะรูปแบบของเกมที่ใครหลายคนกำลังให้ความสนใจ แต่จะมาในรูปแบบของอสังหาริมทรัพย์ และสามารถพัฒนาไปสู่ด้านสุขภาพ และ E-Commerce ได้ด้วยเช่นกัน

Web 3.0 คืออะไร สำคัญอย่างไรกับ Blockchain

จะเกิดขึ้น เมื่อไร?

การที่แนวคิดดังกล่าวจะเป็นจริงได้นั้นยังต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างเพื่อให้รองรับการเชื่อมต่อที่มีการรับส่งข้อมูลจำนวนมาก แต่ปัจจุบันนี้ก็มีเทคโนโลยีบางอย่างที่มีความใกล้เคียงกับ Web3 นั่นคือ คริปโตเคอร์เรนซี และ NFTs ที่ทำงานอยู่บนบล็อกเชนโดยไม่มีคนกลาง ปราศจากการควบคุม

อย่างไรก็ตาม มีรายงานจาก The New York Times ระบุว่านักลงทุนหลายรายที่เชื่อมั่นกำลังเดิมพันเป็นเงิน 27,000 ล้านเหรียญสหรัฐว่า Web3 “คืออนาคตของอินเทอร์เน็ต”

บางองค์กรที่ตอนนี้เราสามารถบอกได้แล้วว่า พวกเขากำลังพัฒนานวัตกรรมที่ต้องอาศัยอินเทอร์เน็ตแบบ Web 3.0 ตัวอย่างที่จะเห็นในบทความนี้ เป็นนวัตกรรมจากเทคยักษ์ใหญ่ที่ใคร ๆ ก็ต้องรู้จัก อย่าง Apple, Amazon และ Google 

  • Siri: ผู้ช่วยอัจฉริยะ ระบบสั่งการด้วยเสียงของ Apple ที่ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ iPhone 4S เพื่อตอบโจทย์กับผู้ใช้สมาร์ทโฟนให้สะดวกยิ่งขึ้น และนอกจาก Siri แล้วยังมี Alexa ของ Amazon และ Bixby ของ Samsung ที่ทำหน้าที่คล้ายคลึงกัน ที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานค้นหาข้อมูล และตอบรับในระยะอันสั้น
  • Wolfram Alpha: เครื่องมือค้นหาข้อมูล (Search Engine) คู่แข่งของ Google ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ระบบค้นหาความรู้ด้วยการคำนวณ (Computational Knowledge Engine) ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นเครื่องมือค้นหาข้อมูลเหมือนกัน แต่การให้ข้อมูลของ Wolfram Alpha จะมีความแตกต่างจาก Google ตัวอย่างเช่น เมื่อเราค้นหา “England vs Brazil” บน Google จะพบว่า ข้อมูลจะขึ้นเกี่ยวกับ Worldcup ซึ่งเป็นคีย์เวิร์ดของการแข่งขันฟุตบอล แต่สำหรับ Wolfram Alpha ข้อมูลที่ออกมาจะรวมไปถึงการเปรียบเทียบระหว่าง 2 ประเทศนี้อีกด้วย ซึ่งสิ่งที่เราเห็นได้จากความแตกต่างของ Google และ Wolfram Alpha นี้ ก็เป็นความแตกต่างของ Web 2.0 และ Web 3.0 เช่นกัน

เรากำลังก้าวออกจากยุคของ Web 2.0 ทีละเล็กน้อย เทคโนโลยีต่าง ๆ เริ่มพัฒนาไปอย่างก้าวหน้ามากขึ้น มีการเกิดขึ้นของคำศัพท์ใหม่ ๆ มากมาย ที่บ่งบอกได้ว่า ยุคอินเทอร์เน็ตแบบ Web 3.0 คงจะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม